ขายของออนไลน์อย่างไร ให้มีประสิทธิภาพ



มีหลายคนมักจะถามเข้ามา เกี่ยวกับการขายสินค้าบน Facebookว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งการตอบสั้นๆ แต่ละครั้ง อาจไม่เคลียร์สำหรับหลายคน เราจึงได้เรียบเรียงคำตอบมาใหม่ และนำมาใส่ไว้ในบทความซะเลย เผื่อจะได้เป็นแนวทางสำหรับคนที่ต้องการจะขายสินค้าออนไลน์ต่อไป
คุณอาจมองเห็นว่า มีหลายๆ ธุรกิจ สามารถขายสินค้าบน Facebook ได้ แต่เชื่อมั้ย ถ้ามองให้ลึกจริงๆ คุณจะเห็นเบื้องหลังที่ไม่ใช่การขายของบน Facebook สิ่งที่คุณเห็น เป็นเพียงการตลาดของเขาเท่านั้น คุณมองเห็น เพราะเขาทำการตลาดได้ดี คุณจึงคิดว่าเขาขายสินค้าบน Facebook
ลองสังเกตให้ดี ถึงแม้คุณจะเข้าไปร่วมกิจกรรมบน Fan Page ของสินค้าที่คุณชอบ แต่เมื่อคุณพอใจจะซื้อสินค้าของเขา คุณจะเข้าไปซื้อที่ไหน? เข้าไปที่เว็บไซต์ของเขา ใช่หรือไม่? นั่นคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการเตรียมการ เพื่อขายสินค้าออนไลน์ ต้องเริ่มที่ Website ไม่ใช่ไปเริ่มที่ Facebook เพราะการเตรียมการมันอยู่ที่เว็บไซต์ของคุณต่างหาก Website คือหน้าร้าน เป็นร้านค้าของคุณ ส่วน Facebook คือทำเลสำหรับการเชื้อเชิญลูกค้าเท่านั้น แต่บางคนอาจใช้ Facebook เป็นหน้าร้านค้าไปเลยก็มี ไม่ได้ทำเว็บไซต์ขึ้นมา นั่นก็พอจะทำได้อยู่เหมือนกัน เพียงแต่มันอาจจะดูหลักลอยไปซักหน่อย
สิ่งที่เราจะบอกต่อไปนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องยากเลยสำหรับนักการตลาดอินเตอร์เน็ต เพราะเ่่ราไม่ได้แนะนำให้คุณไปนั่งปั่น Traffic หรือไปสร้าง Backlink หรือไปทำ SEO ขั้นเทพอะไรทั้งนั้น แค่ความรู้พื้นๆ คุณก็ทำได้แล้ว
มาดูกันทีละข้อกันดีกว่า ว่าคุณต้องมีอะไร ทำอะไร และทำอย่างไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำการตลาดบนอินเตอร์เน็ต

1. เลือกขายสินค้าที่ผู้คนต้องการ

หากสินค้าที่คุณอยากจะขาย มีคุณภาพดีเยี่ยมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลกใบนี้ แต่สินค้านั้นแทบจะไม่เป็นที่ต้องการของใครเลย คุณจะขายสินค้านั้นได้อย่างไร จริงมั้ย? เพราะฉะนั้น
จงขายสิ่งที่ผู้คนต้องการซื้อ ไม่ใช่ขายสิ่งที่คุณต้องการขาย
คุณต้องค้นให้เจอว่าผู้คนต้องการอะไร เมื่อรู้ความต้องการ ก็เท่ากับรู้ทิศทางของธุรกิจแล้วในระดับนึง

2. ทำเว็บไซต์ สร้างหน้าเว็บเพจ บอกรายละเอียดสินค้าให้ชัดเจน

นำรายละเอียดสินค้าที่ได้เลือกแล้วจากข้อ 1 มาใส่ในเว็บเพจให้เรียบร้อย บอกรายละเอียดให้ชัดเจน แนะนำว่า ควรจะมีรูปภาพสินค้าเพื่อให้ดูน่าสนใจมากขึ้น หรือถ้ามีวีดีโอแนะนำสินค้าด้วยก็จะดีมาก และสุดท้ายควรจะมีปุ่มสั่งซื้อสินค้า หรือรายละเอียดการสั่งซื้อให้เห็นชัดเจน หากลูกค้าต้องการจะสั่งซื้อเดี๋ยวนั้น จะได้บริการลูกค้าได้ทันใจ
product-details
มาถึงตรงนี้ คุณอาจจะคิดว่า ก็ทำเว็บไม่เป็นอ่ะ มันยากไปป่าว?.... สำหรับเรื่องนี้หายห่วงได้เลย เพราะมีผู้ให้บริการเว็บไซต์หลายแห่ง ที่รู้ปัญหาข้อนี้ดี และทำเรื่องยากๆ เหล่านี้ให้เป็นเรื่องง่ายเรียบร้อยแล้วล่ะ อย่างเช่นที่ โฮสติ้ง 1and1 ก็จะมี Package เว็บไซต์สำเร็จรูปให้ ชื่อว่า "1&1 My Website" ซึ่งคุณแทบไม่ต้องมีความรู้ในการทำเว็บเลย คุณก็สร้างหน้าเว็บเพจได้... หรือคุณอาจใช้พวกโปรแกรม Opensource อย่าง Joomla หรือ WordPress ก็ได้ ติดตั้งง่าย ใช้งานได้ทันที
คุณอาจใช้เว็บไซต์ในการสร้างแอพ (Application) บน Facebook ได้อีกด้วย อันนี้ก็ต้องให้โปรแกรมเมอร์ หรือนักพัฒนาแอพ มาช่วยทำให้ล่ะ แอพเจ๋งๆ ส่วนใหญมักสร้างบนเว็บไซต์ของตัวเอง ไม่ใช่สร้างบน Facebook เพราะต้องมีการเก็บค่าต่างๆ ลงฐานข้อมูลของเว็บ
ถึงแม้ว่าจะมีบางแอพที่เจ๋งขนาดว่า คุณสามารถติดตั้งร้านค้า e-Commerce บน Facebook ได้โดยไม่ต้องมีเว็บเลยก็ตาม แต่แอพเหล่านั้นก็ถูกสร้างบนเว็บไซต์ของเจ้าของแอพเองอยู่ดี ลองสังเกตดูนะ ยังไงซะ ก็ขาดเว็บไซต์ไม่ได้

3. เขียนเนื้อหาในบล็อก ให้โดนใจผู้ชม

คุณควรจะมีบล็อก โดยคุณอาจสร้างบล็อกบทความให้อยู่ภายในเว็บไซต์จากข้อ 2 ก็ได้ หรือจะแยกกันต่างหากก็ได้ ไม่ซีเรียส แต่สิ่งที่ซีเรียสคือ คุณควรอัพเดทบทความอย่างสม่ำเสมอ เพื่อผู้ชมจะได้อ่านเนื้อหาที่สดใหม่อยู่ตลอดเวลา ผู้ที่เคยเข้ามาแล้ว ก็อยากจะเข้ามาอีก นี่คือข้อที่สำคัญมากๆ สำหรับการทำการตลาดผ่านเว็บไซต์ (Content is KING) เขียนให้โดนใจ ถ้าเนื้อหาในบล็อกถูกใจผู้เยี่ยมชม นอกจากพวกเขาจะเต็มใจเข้ามาอ่านแล้ว ก็ยังอาจบอกต่อเพื่อนของเขาต่อๆ ไปไม่รู้จบ...
แน่นอนว่า คุณควรเขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับสินค้าในข้อ 2 ด้วย แต่ไม่ใช่การ Copy เอารายละเอียดสินค้า (จากข้อ 2) มาโพสซ้ำอีกรอบ มันน่าเกลียด เพราะหน้าเพจรายละเอียดสินค้า กับการเขียนบทความ มันทำหน้าที่ต่างกัน
ก่อนอื่นเลย คุณต้องเข้าใจก่อนว่าเสริชเอนจิ้น (Search Engine) อย่าง Google, Yahoo, หรือ Bing นั้น ชอบบทความในบล็อก เนื้อหาที่อยู่ในบล็อก จะติดเสริชเอนจิ้นได้ง่ายกว่าหน้าเพจนิ่งๆ ที่บอกแต่รายละเอียดสินค้า คุณอาจเขียนบทความเพื่อให้ความกระจ่าง ให้ความรู้ ให้ทัศนะ ให้มุมมอง หรือบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของคุณ มีการแสดงความคิดเห็น พูดคุยกับผู้เยี่ยมชมบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ Search Engine ชอบมาก บทความของคุณก็จะมีโอกาสติดหน้าแรกๆ ของผลการค้นหาบน Search Engine
article
ผลที่ได้คือ หากมีใครใช้ Search Engine ค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่คุณกำลังขายอยู่พอดี ก็อาจจะเจอกับบทความในบล็อกของคุณก่อน เมื่อเขาได้อ่านแล้วเกิดความประทับใจ อยากเห็นสินค้า เขาก็จะคลิกลิ้งก์เข้าไปยังหน้าเว็บเพจรายละเอียดสินค้า ที่คุณได้ทำเตรียมไว้แล้วในข้อ 2 และหากเขาตัดสินใจสั่งซื้อ คุณก็ได้เตรียมขั้นตอนบอกเอาไว้เรียบร้อยแล้ว สั่งซื้อได้ทันที
นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมบล็อกจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต ก็เพราะมันเป็นการส่ง Content ใน Blog ให้ไปติดหน้าแรกๆ ของผลการค้นหาบน Search Engine เพื่อไปเจอกับผู้ค้นหาพอดิบพอดี วิธีการแบบนี้ จึงจะทำให้มีโอกาสขายสินค้าได้ง่ายขึ้น

4. ปรับแต่งเว็บไซต์ให้ผู้ชมใช้งานง่าย

ในเว็บไซต์ของคุณ ควรจะมีระบบนำทาง (Navigation) ที่ดี เพื่อให้ค้นหาสิ่งที่ต้องการภายในเว็บไซต์ได้ง่าย โดยอาจจะสมมุติตัวคุณเองเป็นผู้ชม และลองเข้ามาอ่านเพื่อทดสอบเองก่อน ลองสังเกตง่ายๆ ว่า ถ้าคุณอ่านเว็บไซต์ที่ใช้งานยาก หาสิ่งที่ต้องการไม่ค่อยเจอ ครั้งต่อไปคุณก็ไม่อยากเข้าไปอ่านอีก ผู้อื่นก็คิดไม่ต่างจากคุณแหละ
navigation
หากคุณมีสินค้าหลายหมวดหมู่ หลายชิ้น คุณสามารถจัดหมวดหมู่สินค้าอย่างเป็นระบบระเบียบได้ภายในเว็บไซต์ หรือแม้แต่การจัดหมวดหมู่บทความในบล็อก ก็ทำได้ง่ายกว่าบน Facebook ทำให้ผู้เยี่ยมชมสะดวกในการค้นหา

5. เก็บข้อมูล สมาชิก/ลูกค้า

นี่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำเงินให้กับคุณได้อย่างต่อเนื่อง ที่นักการตลาดหลายคน อาจจะมองข้ามข้อนี้ไป คุณอาจจะทำแบบฟอร์มเล็กๆ ให้สมัครสมาชิกเว็บไซต์ เพื่อรับข่าวสารอัพเดท หรือแบบฟอร์มลงทะเบียน เพื่อรับข้อเสนอพิเศษอะไรก็ว่ากันไป แบบฟอร์มนี้เรียกว่า Opt-In Form  มีไว้เพื่อใช้ทำ Email Marketing ต่อไป
otpin-form

6. สื่อสารกับ สมาชิก/ลูกค้า อย่างต่อเนื่อง

เมื่อมีรายชื่อ สมาชิก/ลูกค้า ที่ได้จากข้อ 5 แล้ว ก็อย่าลืมดูแลพวกเขาด้วยล่ะ การแจ้งข่าวสาร หรือพูดคุยอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างคุณกับ สมาชิก/ลูกค้า และการสื่อสารกันนั้น ก็อย่าพยายามยัดเยียดให้เขาซื้อสินค้า โดยไม่ได้ดูเลยว่าเขาอยากจะได้สินค้านั้นหรือเปล่า อย่าลืมหลักการในข้อ 1 (ขายสิ่งที่ผู้คนต้องการ) คุณควรจะแยกกลุ่มผู้สนใจให้ชัดเจน ว่าแต่ละคน เขาสนใจอะไรกันแน่ คุณอาจทำแบบฟอร์ม Opt-In มากกว่า 1 ฟอร์ม เพื่อแยกความสนใจของลูกค้าแต่ละราย แล้วจึงค่อยนำเสนอสินค้าให้ตรงกับความสนใจของเขา ลูกค้าจึงจะประทับใจ ถ้าลูกค้ารู้สึกพอใจ จะนำเสนออะไรมันก็ง่าย จริงมั้ย?

7. หาทำเลดีๆ เพื่อโปรโมท

socialmediaในบทความนี้ เรากำลังพูดถึง การทำการตลาดออนไลน์อยู่ และในยุคนี้ ถ้าพูดถึงทำเลบนอินเตอร์เน็ตแล้ว Social Media อย่าง FacebookTwitter,YouTube (ยกตัวอย่างแค่ 3 เว็บเท่านั้น ยังมีเว็บอื่นๆ อีกมาก) นับเป็นทำเลทองออนไลน์ที่ผู้คนพลุกพล่านมาก คุณจะต้องเชื่อมโยงเว็บไซต์ หรือบล็อกของคุณ เข้ากับ Social Media เหล่านี้ ด้วยการนำ VDO ปุ่ม ลิ้งก์ หรือ Plugin ต่างๆ มาติดตั้งในเว็บไซต์ของคุณ จากนั้นพยายามแชร์บทความดีๆ จากบล็อกของคุณไปยัง Social Media อย่างสม่ำเสมอ และอาจแชร์หน้าเว็บรายละเอียดสินค้าด้วยในบางครั้ง
ที่สำคัญคือ คุณต้องระมัดระวังในการแชร์สิ่งต่างๆ โดยอย่าไปสร้างความรำคาญให้ผู้อื่น และควรใช้วาจาสุภาพ การแชร์ประสบการณ์ ความรู้ ความคิด การเล่าเรื่องต่างๆ การพูดคุยทักทายกัน ผู้คนจะชอบมากกว่าการเอาแต่โพสขายของ ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณเอาแต่โพสขายของบน Social Media รับรองว่าผู้คนจะวิ่งหนีคุณแน่นอน เพราะแท้ที่จริงแล้ว ผู้คนต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์ หรือคุยกับคนมากกว่า ไม่ใช่คุยกับสินค้า
ถ้าสิ่งต่างๆ ที่คุณแชร์ โดนใจผู้เยี่ยมชมล่ะก็ จะทำให้เกิดการจดจำ และการบอกต่อ ได้โดยอัตโนมัติ

8. เร่งสปีดด้วยการลงโฆษณา

คุณอาจจะสร้างเว็บไซต์ได้อย่างอลังการ สร้าง Facebook Fan Page ได้อย่างมืออาชีพ แต่สำหรับบางคนแล้ว กว่าจะมีสมาชิกแฟนเพจถึง 100 คนแรก อาจไม่ทันใจ ถ้าคุณอยากจะเห็นผลเร็ว บางครั้งคุณก็จำเป็นจะต้องเร่งสปีด ด้วยการทำโฆษณาแบบเสียเงินบ้างในช่วงเริ่มต้น
คุณอาจเลือกทำโฆษณาใน Search Engine หรือใน Social Media ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ของการทำโฆษณานั้น ว่าเป็นการเน้นขายสินค้า หรือเน้นสร้างแบรนด์ หรือเพื่อหาจำนวนสมาชิกให้ได้มากที่สุด วิธีการก็จะแตกต่างกันไป
Google AdWords V.S. Facebook Ads
หากทำโฆษณาเพื่อเน้นขายสินค้า อาจทำใน Google หรือใน Facebook ก็ได้ โดยส่งผู้ที่คลิกโฆษณาเข้าไปยังหน้ารายละเอียดสินค้าโดยตรงเลย เพราะผู้ที่คลิกโฆษณา เขารู้อยู่แล้วว่าคุณกำลังโฆษณาสินค้าอยู่ และเขาก็ต้องการจะดูสินค้าอยู่แล้วด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นส่งตรงไปหน้าสินค้าเลย
หากทำโฆษณาเพื่อเน้นสร้างแบรนด์ หรือหาจำนวนสมาชิก ก็อาจจะทำโฆษณาบน Facebook โดยโปรโมทกิจกรรม หรือโปรโมชั่นโดนๆ เจ๋งๆ ผ่านทาง Fan Page วิธีนี้จะได้จำนวนสมาชิกที่กด Like แฟนเพจจำนวนมาก เมื่อได้จำนวนมากพอในระดับนึงแล้ว คุณก็สามารถที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่นได้อย่างต่อเนื่อง กิจกรรมหรือโปรโมชั่นที่คุณทำขึ้น ก็จะนำไปสู่การสั่งซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ในที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม หรือโปรโมชั่น หรือการพูดคุยโต้ตอบกับแฟนเพจ จะทำให้เกิดแรงเหวี่ยงในการบอกต่อ เมื่อถึงตอนนั้น ก็อาจไม่จำเป็นต้องทำโฆษณาแบบเสียเงินอีกเลยก็ได้

สรุป

มาดูกันซิว่า สิ่งที่เราได้บอกไปทั้งหมดข้างต้น คุณจะต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง
  1. Blog/Website
    ทำบล็อกไว้สำหรับเขียนบทความ มีหน้าเว็บเพจแสดงรายละเอียดสินค้า หรืออาจใช้เขียนแอพ (โปรแกรมเสริม) อื่นๆ เพิ่มเติมได้
  2. Opt-In Form
    แบบฟอร์มสำหรับเก็บข้อมูล ชื่อ และอีเมล์ลูกค้า เพื่อแจ้งข่าวสารทางอีเมล์ (Email Marketing)
  3. Social Media
    เช่น FacebookTwitterYouTube หรือ Social Media อื่นๆ เพื่อแจ้งข่าวสาร อัพเดทบทความ แชร์วีดีโอ สร้างความสัมพันธ์ โดยเฉพาะ Facebook Fan Page สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ได้มากมาย ใช้สร้างแบรนด์ได้
พอจะเห็นแนวทางการขายของบนเน็ตกันแล้วนะ Website/Blog และ Social Media ล้วนแต่สำคัญทั้งนั้น ควรใช้ร่วมกัน และใช้ Email Marketing เพื่อความต่อเนื่อง จึงจะสร้างแบรนด์ สร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่า เพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจของคุณได้มากขึ้น โดยเฉพาะหากต้องการสร้างแอพ เพื่อนำไปประกอบกิจกรรมบน Facebook Fan Page ให้เพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น เว็บไซต์คือสิ่งจำเป็น และในที่สุดแล้ว กิจกรรมพวกนั้น ก็จะนำลูกค้ามาสั่งซื้อสินค้าที่เว็บไซต์ของคุณนั่นเอง



เรียบเรียงข้อมูลโดย เกศสุดา หอมลา
Article by: Nattaphon
http://www.nattaphon.com/